ประวัติ พื้นที่ ศศช.

ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้นโดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชนและมีการสร้างอาคารขนาดเล็กเรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืนและสอนเด็กตั้งแต่อนุบาล-ป.6 ในตอนกลางวัน มุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการศศช.นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2537 ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีการขยายเปิดตามชุมชนทุรกันดารถึง 773 แห่ง

เมื่อ พ.ศ. 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ และทรงพบจดหมายของครูอาสาสมัคร คนหนึ่ง ที่ ศศช.บ้านใหม่ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน บรรยายความยากลำบากในการเป็นครูดอยในถิ่นกันดาร และขอรับการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และสิ่งของ เครื่องใช้ในอาศรม ศศช.พระองค์ทรงมีความสนพระทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือ จึงมอบหมายให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ หน.คณะทำงานส่วนพระองค์ ไปสำรวจหาข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 80,000 บาท ให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ และต่อมาได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์

ในปี พ.ศ. 2539 กรม กศน.ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” หรือ “สมเด็จย่า” แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม . การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงหรือเดิมเรียกว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อ ชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)หรือจะพูดง่ายๆ และพูดจนติดปากว่า “การศึกษาชาวเขา”ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดงานที่ดำเนินการก็คือ การให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งประกอบด้วยประชากรหลายเผ่าพันธุ์และหลายเชื้อชาติ วิธีการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ไม่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นราบ แต่ถ้าพูดถึงกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งด้านหลักการ เป้าหมายและกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันบ้างเพราะชุมชนบนพื้นที่สูงมีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน เช่น ความแตกต่างทางด้านภูมิประเทศ ความแตกต่าง ในวิถีชีวิต ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านความพร้อม ในการสื่อสารและการคมนาคมดังนั้น เป้าหมาย (goal) ของการจัดการศึกษา สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง จึงเป็นไปตามหลักการและกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยอาศัยความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาโยมีรายละเอียดทั้งหลักการ เป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้

หลักการ

1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม

2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน

3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต

รายละเอียดของหลักการเป้าหมายและวิธีการของการจัดการศึกษา ศศช. จากหลักการจัดการศึกษา ศศช. ที่ได้กำหนดไว้ 3 ประการ คือ

1. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อชีวิตแบะสังคมซึ่งหมายถึงเป็นการ จัดการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้ จากวิธีการ ดำรงชีวิตที่เป็นปกติประจำวันในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่หลับนอน การเจ็บป่วย การทำงานการพักผ่อน การสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ ฯลฯ

2. เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน หมายถึง การจัดการศึกษาที่สนองความต้องการของทุกคนในชุมชน สามารถแสวงหาทางเลือกและโอกาสที่จะเรียนรู้เท่าที่เวลาและโอกาสที่แต่ละคนจะสามารถเรียนรู้

3. เป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การเรียนรู้ที่อาศัยวิธีการทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาาศัย อันเกิดจากแรงจูงในที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงอายุของคนหนึ่งซึ่งต้องเรียนรู้ทึกอย่างที่เดี่ยวกับการดำรงชีวิตซึ่งต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม

เป้าหมาย

1. เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน

2. ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

3. เกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐานมองเห็นช่องทางที่จะเรียนรู้ต่อ ๆ ไปได้

4. สามารถจัดการด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

5. ชุมชนอยู่ในสภาพแห่งสังคมการเรียนรู้

6. เป็นพลเมืองดีของชาติ

7. สามารถธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชนชาวเผ่า